งู
เป็นมือใหม่หัดเลี้ยงงูใช่ไหม?
สามารถศึกษาจากบทความของเราเพื่อเตรียมตัวสำหรับการดูแลงูตัวใหม่ของเราได้เลย
เรื่องเล่าจากคุณหมอรักษางู
![](https://animalspacehospital.com/wp-content/uploads/2025/01/media-2-1-1024x960.png)
![](https://animalspacehospital.com/wp-content/uploads/2025/01/Screenshot_82.jpg)
โรคตาที่พบได้เฉพาะในงูเท่านั้น
เคสนี้เป็นงูหลามบอลไพธอน เพศผู้ อายุประมาน 1 ปีกว่าๆ จู่ๆ ตาขวาก็บวมไม่ทราบสาเหตุ เจ้าของแจ้งว่าเป็นหลังจากไม่ขับถ่ายมานาน พอขับถ่ายออกมารอบนี้ดูเบ่งเยอะและเข้าใจว่าการเบ่งน่าจะเป็นสาเหตุของโรคตาที่เกิดขึ้น
เมื่อตรวจร่างกายพบว่า ตาขวามีลักษณะที่โตและใหญ่มากกว่าด้านซ้ายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นความผิดปกติอย่างแน่นอน
เมื่อมีปัญหาเรื่องโรคตาเกิดขึ้นจะต้องทำการตรวจ (Ocular examination) เพื่อระบุโครงสร้างที่มีปัญหาและนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องให้ได้
นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่จะบอกเจ้าของทุกคนว่า “โรคตาอาจไม่ได้เกิดจากลูกตาเท่านั้นที่มีปัญหา” เรามาดูกันว่าดวงตาเล็กๆเนี่ย จริงๆแล้วมีโครงสร้างมากมายอยู่ภายใน ในที่นี้จะพูดรวมๆในทุกๆสัตว์ ไม่ใช่แค่เฉพาะงูเท่านั้น
1. เยื่อบุตาขาว (conjunctiva) บ่อยครั้งที่เราพบภาวะตาเจ็บ ตาแดง น้ำตาไหล เมื่อตรวจแล้วพบว่าโครงสร้างที่มีปัญหา คือ เยื่อบุตาขาวอักเสบ (conjunctivitis)
2. ท่อน้ำตา (Nasolacrimal duct) เช่น ท่อน้ำตาอักเสบ ท่อน้ำตาอุดตัน
3. กระจกตา (Cornea) เช่น กระจกตาอักเสบ แผลหลุมกระจกตา ฝีที่กระจกตา
4. ม่านตา (Iris,Uvea) เช่น ม่านตาอักเสบ (Uveitis)
5. เลนส์ (Lens)
6. จอประสาทตา (Retina)
และยังมีอีกเยอะมาก ซึ่งในแต่ละตำแหน่งของรอยโรคที่เกิดขึ้นก็ต้องการการรักษา ยา หรือ การจัดการที่แตกต่างกันออกไป อย่าคิดว่าตาเจ็บแล้วไปหาซื้อยาหยอดตามาหยอด 2-3 ตัว แล้วจะหายทุกเคสครับ โรคตาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องการการตรวจที่แม่นยำครับ
มาต่อเคสของเรากัน สรุปว่างูตัวนี้ได้รับการตรวจโดยคุณหมอเฉพาะทางโรคตาและวินิจฉัยว่ารอยโรคอยู่ที่ Subspectacular space
Subspectacular diseases ในงูนั้นที่เจอบ่อยๆ มีอยู่แค่ 2 อย่าง
1. Subspectacular abscess
◼ การเกิดภาวะติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดฝีหนองใน Subspectacular space โดยอาการภายนอกที่เราสามารถพบได้คือ งูอาจมีภาวะตาบวมมากกว่าปกติ โดยที่ spectacle ยังเรียบเนียน ภายในอาจพบลักษณะของของเหลวที่มีสีขุ่นเหลืองข้นคล้ายหนอง และบางครั้งอาจพบเส้นเลือดเล็กๆเข้ามา ซึ่งแสดงถึงการเกิดภาวะการอักเสบ
◼ สาเหตุอาจเกิดจากการถูกของมีคมทิ่มเข้าไป (Penetrating wound) แล้วเกิดการติดเชื้อ หรือ เกิดตามมาจากภาวะลอกคราบที่ตาไม่สมบูรณ์ (Retained spectacle) แล้วเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนเข้าไป หรือเกิดการติดเชื้อผ่านเข้ามาทางท่อน้ำตา ซึ่งพบได้ในงูที่มีปัญหาช่องปากอักเสบ (Stomatitis) ก็คืออาการที่งูมีน้ำลายเยอะอย่างที่เจ้าของทุกท่านเข้าใจว่าเป็นโรคหวัดนั่นแหละครับ
2. Bullous spectaculopathy
◼ การเกิดภาวะคลั่งของน้ำตาในช่อง Subspectacle ทีนี้ปกติแล้วน้ำตาที่ถูกสร้างจะต้องผ่านออกมาทางท่อน้ำตา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการคลั่งได้นั้นก็คือ ท่อน้ำตาอุดตัน
◼ อาการภายนอกคือ งูจะมีภาวะตาบวมมากกว่าปกติ ของเหลวที่เราพบจะมีสีใส หรือบางครั้งอาจจะขุ่นบ้างเล็กน้อย แต่จะไม่ได้เป็นสีเหลืองขุ่นเหมือนหนองและไม่พบเส้นเลือด
สาเหตุของการอุดตัดแบ่งออกเป็น 2 อย่าง
1. Congenital obstruction ภาวะอุดตันที่เกิดจากการพัฒนาท่อน้ำตาที่ไม่สมบูรณ์ อาจจะตีบมากกว่าปกติหรือไม่มีท่อน้ำตาเลยก็ได้ สามารถพบได้ในงูแรกเกิดหรืออายุยังน้อย
2. Physical obstruction ภาวะอุดตันจากอะไรบางอย่าง อันนี้คือท่อน้ำตาเดิมปกติดีไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เกิดมีอะไรสักอย่างไปอุดตันเลยระบายน้ำตาออกมาไม่ได้ เช่น สิ่งปูรองบางชนิด การอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปาก เหงือกบวมไปกดเบียดรูเปิดท่อน้ำตา เป็นต้น
![](https://animalspacehospital.com/wp-content/uploads/2025/01/Screenshot_83.jpg)
การรักษาสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น
1. การผ่าตัด (Spectacle partial excision) เพื่อระบายของเหลวด้านในออก และสามารถเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจเซลล์ (Cytology) และเพาะเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial culture and drug sensitivity test)
2. การเจาะดูด (Aspiration) สามารถดูดเอาของเหลวด้านในออกมาได้และสามารถ Flush น้ำเกลือเข้า-ออก เพื่อล้างได้อีกด้วย
3. การล้างท่อน้ำตา (Nasolacrimal flushing) เป็นวิธีที่เราเลือกทำในงูตัวนี้ โดยใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในรูเปิดของน้ำตาและ Flush NSS น้ำเกลือดันสิ่งต่างๆที่อยู่ใน Subspectacular space และท่อน้ำตาออกให้หมด สามารถทำซ้ำได้จนของเหลวที่ออกมาใส นอกจากนี้เรายังสามารถเก็บตัวอย่างของเหลวที่เรา flush ออกมาเพื่อส่งตรวจได้อีกด้วย
![](https://animalspacehospital.com/wp-content/uploads/2025/01/Screenshot_84.jpg)
ย้ำอีกครั้ง โรคตาอาจมีสาเหตุที่ไม่ได้มาจากตาและตาก็มีโครงสร้างต่างๆมากมาย และสามารถเกิดโรคได้ทุกตำแหน่ง มีปัญหาเรื่องตาพามาตรวจเถอะครับ
โดย น.สพ.จาตุรันต์ ลือพันธุ์ (หมอจา)