โรคซีสต์ในรังไข่หนูแกสบี้

วันนี้มาทำความรู้จักโรค "ซีสต์รังไข่ในหนูแก้สบี้(Ovarian cysts in guinea pigs) " กันดีกว่า

เรื่องมีอยู่ว่า มีหนูแก้สบี้ตัวนึงมาด้วยปัญหาขาหักและได้รับการรักษาด้วยการใส่เฝือกเรียบร้อยดี แต่คุณหมอที่รับเคสสังเกตอาการผิดปกติจากการตรวจร่างกายอีกอย่างนึงคือ แก้สบี้ตัวนี้มีปัญหาขนร่วงที่บริเวณหลังด้านท้ายของลำตัว ลักษณะของขนที่ร่วงคือทั้ง 2 ข้างของลำตัวขนร่วงเกือบเท่าๆกันและไม่พบการอักเสบของผิวหนัง (non pruritic bilateral symmetrical alopecia) เมื่อสอบถามเจ้าของก็แจ้งว่าอาการขนร่วงเป็นมาสักพักนึงแล้ว โดยอาการขนร่วงในลักษณะนี้มักพบในกลุ่มของโรคความผิดปกติของฮอร์โมน (Hormonal disorder) คุณหมอเลยขอวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (Abdominal ultrasonography) เพื่อเช็กความผิดปกติของรังไข่และต่อมหมวกไต



ผล U/S พบรังไข่ทั้ง 2 ข้างมีถุงน้ำหรือซีสต์ที่รังไข่ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุของภาวะขนร่วง

ทีนี้ซีสต์รังไข่ในแก้สบี้จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. Serous cysts (cystic rete ovarii, nonfunctional cysts) หรือซีสต์ที่ไม่ผลิตฮอร์โมน

สัตว์มักจะไม่แสดงอาการให้เห็นภายนอกเลยจนกว่าซีสต์จะใหญ่ขึ้นจนไปกดเบียดอวัยวะในช่องท้อง ทำให้การเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารผิดปกติ โดยอาการที่แสดงออกมาก็ไม่จำเพาะกับโรค เช่น ซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องอืด เป็นต้น มีรายงานว่าก้อนซีสต์ชนิดนี้มีขนาดตั้งแต่ 0.5-7.0 cm เลยทีเดียว

การรักษา

- Ovariohysterectomy (OVH) หรือการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกและรังไข่ออก เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่สำหรับสัตว์ที่สภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะวางยาสลบหรือเจ้าของเองไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงในการวางยาสลบได้ ก็จะต้องรักษาแนวประคับประคองอาการ โดยสามารถใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อระบุตำแหน่งของซีสต์และใช้เข็มจิ้มเพื่อเจาะดูดของเหลวออกมา (Ultrasound-guided percutaneous drainage of the fluid) เป็นการลดขนาดของซีสต์ลง แต่ไม่ใช่การรักษาแบบถาวรและจะต้องนัดมาติดตามอาการเนื่องจากซีสต์มีโอกาสกลับมาโตขึ้นอีกได้เสมอ โดยขึ้นกับแต่ละตัวว่าจะมาช้าหรือเร็ว

  1. Follicular cysts (Functional cysts) หรือซีสต์ที่สามารถผลิตฮอร์โมนได้

สัตว์มักจะแสดงอาการภายนอกให้เห็นได้ เช่น มีภาวะช่องท้องขยาย (Abdominal distension) ขนร่วงทั้ง 2 ข้างของลำตัวเท่าๆกัน (Bilateral symmetrical alopecia) เต้านมหรือหัวนมใหญ่ผิดปกติ (Mammary hyperkeratosis) ในบางเคสเมื่อบีบแล้วอาจพบสิ่งคัดหลั่งออกมาได้ด้วย

อาการภายนอกเหล่านี้เป็นเพียงส่วนน้อยเราสามารถเห็นได้เท่านั้น แต่จริงๆแล้วโรคที่มักจะเกิดขึ้นตามมาจากการเป็นซีสต์ชนิดนี้ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น

- เนื้องอกมดลูก (Uterine neoplasia)

- เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor)

- เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Cystic endometrial hyperplasia)

- มดลูกอักเสบ (Endometritis/Pyometra)

- ภาวะโลหิตจางจากการกดไขกระดูก (Aplastic anemia) เป็นต้น

ซึ่งโรคพวกนี้มักส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมากกว่าภาวะขนร่วงแน่นอน... ซึ่งหากพบความผิดปกติแล้วโรคก็มักจะดำเนินไปมากแล้วเช่นกัน

การรักษา

- แน่นอนว่าการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดก็ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ซีสต์ชนิดนี้ก็มีโอกาสที่จะรักษาได้ด้วยการฉีดฮอร์โมนเช่นกัน

Gonadotropin-releasing hormone (GnRH)

- จากการศึกษาพบว่าการใช้ Short-acting GNrH agonist (25 μg/animal) ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 อาทิตย์ สามารถช่วยให้เกิดการตกไข่ สลายซีสต์ และ ทำให้วงรอบการเป็นสัดกลับมาปกติได้ แต่ซีสต์ชนิดนี้ไม่ตอบสนองกับ Sustained-release GnRH formulations หรือการฝังฮอร์โมน

Human chorionic gonadotropin (hCG) 

- ไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากหลังฉีดฮอร์โมน พบว่าร่างกายจะผลิต antibody เพื่อต่อต้านและการฉีดครั้งต่อๆไปมักจะทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ตามมา

.ดังนั้นแก้สบี้เพศเมียที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไปก็ควรที่จะได้รับการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อเคลียร์ปัญหาเหล่านี้แต่เนิ่นๆ อาจจะรวมไปในการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง