“ความฝันในการเป็นสัตวแพทย์ของคุณคืออะไร”




“ความฝันในการเป็นสัตวแพทย์ของคุณคืออะไร”
 
นี่คงเป็นหนึ่งในคำถามที่นิสิต นักศึกษาสัตวแพทย์ทุกคนคงเคยได้รับ และเราเชื่อว่ากว่าร้อยละ 95 กำลังจินตนาการเห็นภาพตัวเองเป็นคุณหมอเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง ทำงานอยู่กับสุนัขและแมวแสนน่ารักในคลินิกเล็ก ๆ ของตัวเอง แต่สำหรับใครบางคน ความฝันของเขาอาจแตกต่างกันออกไป เพราะเพื่อนร่วมงานแสนน่ารักในจินตนาการของเขานี้กลับไม่ใช่สุนัขและแมวที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรก แต่กลับเป็นสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกประหลาดที่หลายคนอาจมองข้าม ไม่เป็นที่นิยม แต่มีชีวิตและจิตใจไม่แตกต่างกัน แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หรือ exotic pets นั่นเอง 
 
ในวันนี้ Vpeople จะพาไปพูดคุยกับ คุณหมออ้อย - น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล คุณหมอสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ผู้มุ่งมั่นในความฝันของตนเอง จนสามารถก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ exotic ที่ครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย หรือที่หลายคนรู้จักกันในนามของโรงพยาบาลสัตว์แอนิมอลสเปซ (Animal space pet hospital) เพื่อเปิดมุมมองถึงความฝัน ความมุ่งมั่น และเยี่ยมชมโรงพยาบาลสัตว์แห่งใหม่นี้ว่ามีจุดเด่นและมีความน่าสนใจอะไรบ้าง



จากความหลงใหล...สู่การลงมือทำ
 
คุณหมออ้อยพาเราไปนั่งพูดคุยกันในห้องสมุดของโรงพยาบาลที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าเพิ่มเติมให้แก่คุณหมอสัตวแพทย์และน้อง ๆ ทุกคนที่มีความสนใจ เรานั่งลงอย่างผ่อนคลาย และเปิดประเด็นด้วยคำถามที่ใครหลายคนอาจกำลังสงสัย
 
เพราะอะไรคุณหมอจึงสนใจสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษที่ใครหลายคนมองข้าม
 
“เรารู้สึกว่าเสน่ห์ของสัตว์เลี้ยง exotic แต่ละตัวมีความแตกต่างกัน มีความน่ารักในแต่ละ species ที่ไม่เหมือนกัน กระต่ายก็น่ารักแบบหนึ่ง สัตว์เลี้ยงคลานก็น่ารักอีกแบบ อีกอย่างคือเราอยากรักษาสัตว์ได้ทุกชนิด มันเป็นความท้าทายที่ทำให้เราอยากเรียนรู้ และเราเชื่อว่า "สัตว์ทุกชนิดควรได้รับการรักษาที่เท่าเทียมกัน” เช่น หมาแมวเข้าคลินิกไหนก็ได้ แต่พอเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่ทำการรักษามีน้อย สุดท้ายกว่าเขาจะหาคลินิกรักษาได้ก็อาจจะช้าเกินไป เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นหมอที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างตรงนั้น” 
 
โดยคุณหมอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความสนใจในสัตว์พิเศษที่ไม่ใช่สุนัขและแมวของตนเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยในระหว่างที่เป็นนิสิตของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการเรียนการสอนวิชาสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษยังมีน้อยมาก
ประกอบกับการได้รับโอกาสให้เป็นผู้อำนวยการค่ายเยาวชนอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ตนได้มาสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติ ด้วยความหลงใหลในธรรมชาติและสัตว์ป่า สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของความฝันและความตั้งใจที่อยากจะเป็นหมอสัตว์ป่าของตน แต่พอกลับมามองโลกความเป็นจริง ความฝันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปเพราะตำแหน่งของสัตวแพทย์สัตว์ป่าหรือสวนสัตว์นั้นมีจำกัด หลังจากที่เรียนจบคุณหมอจึงต้องเก็บความฝันของตัวเองไว้และทำหน้าที่เป็นสัตวแพทย์ที่รักษาสุนัขและแมวเป็นหลัก หลังจากที่ได้ทำงานไปสักระยะ คุณหมออ้อยก็ยังคงมุ่งมั่นในความฝันของตน จึงได้มีความคิดริเริ่มบุกเบิกการเปิดแผนกสัตว์พิเศษ (exotic pets) ขึ้นในโรงพยาบาลสัตว์ที่ตนทำงานอยู่ 
 
“มันเหมือนกับเราต้องไปบุกเบิก ซึ่งในสมัยที่เรียนจบตอนนั้นต้องเรียกว่าโรงพยาบาลสัตว์ exotic มีน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่แผนกหนึ่งในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความอยากทำเราก็เลยอาสาขอเปิดแผนกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษขึ้นมาให้””
 
แต่ในช่วงแรกกลับไม่มีเคสเข้ามาเลย
 
“ไม่มีเคสเลยเพราะว่าคนไม่รู้ และในตอนนั้นโซเชียลมีเดียก็ยังไม่มี การส่งข่าวสารกันจึงเป็นแบบปากต่อปาก ช่วงแรกเราก็รักษาไปเรื่อย ๆ รักษาเคสทั่วไป เช่น นกเก็บได้ นกเขา นกพิราบ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีนกชนิดอื่น ๆ เข้ามา มีนกเลี้ยงเข้ามาหาเรามากขึ้น และในช่วงนั้นคนเริ่มนิยมเลี้ยงหนูแกสบี้ โชคดีที่ตอนนั้นมีเว็บไซต์สำหรับคนเลี้ยงหนูแกสบี้ คนที่พามารักษาเขาก็ไปบอกต่อ คนก็เลยเริ่มเข้ามามากขึ้น เราก็สะสมเคสไปเรื่อย ๆ จากสัปดาห์ละ 2 ตัว ซึ่งน้อยมาก ปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 5-10 ตัว เพิ่มเป็น 20-30 ตัว จนเพิ่มขึ้นเป็นร้อย ใช้เวลาอย่างน้อยเกือบ 5 ปี จากจุดที่ไม่มีใครรู้จักเรา แต่เราก็โฟกัสในทางของเรา เราก็ทำและทำไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราได้มาเป็นหมอ exotic pet จนถึงทุกวันนี้”
 
ในระยะหลัง exotic pet เป็นที่นิยมเลี้ยงมากขึ้นมาก ทำให้เกิดคำกล่าวที่ว่าการเลี้ยงสัตว์ exotic เป็นการเลี้ยงตามกระแส เราจึงอยากทราบความเห็นของคุณหมออ้อยที่เป็นผู้คลุกคลีอยู่กับวงการนี้
 
“ไม่จริง”คุณหมออ้อยตอบคำถามเราทันที
 
“เมื่อก่อนการเลี้ยง exotic pet อาจจะเป็นกระแส เพราะเลี้ยงแล้วดูเท่ ไม่เหมือนคนอื่น แต่ปัจจุบันวิธีการคิดของผู้เลี้ยงเริ่มเปลี่ยนไป ทุกวันนี้การเลี้ยง exotic pet ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนขึ้นมาก ตลอดระยะเวลาการทำงาน 15-17 ปี เราเห็นเทรนด์ว่ามันไม่ได้ลดลง คนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น คนดูแลสัตว์ดีกว่าเดิม แต่พื้นที่บ้านกลับน้อยลง มันก็ต้องมีสัตว์อื่น ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตเขา ให้เขาเลี้ยงเป็นเพื่อนได้ ดังนั้นคิดว่าอนาคตการเลี้ยงสัตว์ exotic ไม่มีทางที่จะลดลง มันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ” 
 
แต่ถึงอย่างนั้นคุณหมอก็ยังฝากถึงน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาสัตวแพทย์ทุกคนว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราชอบ เราสนใจก็จะเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีกว่า อย่าเลือกเรียนเพราะมองตามเทรนด์ เพราะสุดท้ายทุกคนต่างมีช่วงเวลาของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เหมือนคุณหมออ้อยที่เลือกมุ่งมั่นตามความฝัน ผ่านช่วงเวลาการพิสูจน์ตัวเองมามากกว่า 5 ปี จึงจะสามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง


โฟกัสกับสิ่งที่ชอบ...แล้วต่อยอดจากสิ่งที่เรามี
 
เนื่องจากการทำงานกับสัตว์ exotic ต้องสัมผัสกับสัตว์หลากหลายสปีชีส์ เราเลยอยากทราบว่าคุณหมอมีวิธีการจัดการกับสัตว์ที่ตัวเองไม่คุ้นเคย หรือความรู้ไม่ของตัวเองอย่างไร
 
“ไม่มีใครเก่งทุกชนิดสัตว์และไม่มีใครที่จะรู้จักสัตว์ทุกชนิดได้” คุณหมอเอ่ยคำนี้ขึ้นมาก่อนที่จะกล่าวว่าหลักการสำคัญในการทำงานกับ exotic pet คือการโฟกัสในสิ่งที่ชอบ โฟกัสในสปีชีส์สัตว์ที่รู้สึกว่าตัวเองถนัด เมื่อเก่งแล้วเราจะมีเวลาไปโฟกัสสัตว์สปีชีส์อื่น ๆ ได้เอง
 
“ถ้าเราจับทุกอย่าง มันจะเยอะมาก แล้วจะกลายเป็นว่าเราท้อ ดังนั้นค่อย ๆ โฟกัสไป เริ่มจาก small animal ก่อน เพราะมันประยุกต์ไปใช้ต่อได้ง่าย”
 
ภายหลังจากเรียนจบ คุณหมออ้อยได้ไปทำคลินิกเอกชนอยู่ประมาณ 5 ปี หลังจากนั้น รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากรคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น ได้ชวนไปทำงานเป็นสัตวแพทย์ประจำหน่วยสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษและสอนนิสิตนักศึกษาสัตวแพทย์ในรายวิชาคลินิกปฏิบัติ ประมาณ 10 ปีต่อมา จึงตัดสินใจลาออกมาทำตามความฝันของตัวเอง ด้วยการเปิดโรงพยาบาลสัตว์แอนิมอลสเปซ โดยมีความตั้งใจให้เป็นโรงพยาบาลสัตว์ชนิดพิเศษโดยเฉพาะ ที่เป็นเสมือนต้นแบบของโรงพยาบาลสัตว์ชนิดพิเศษแห่งแรกในประเทศไทย
 
“ประเทศไทยยังไม่มีโรงพยาบาลสัตว์ exotic โดยเฉพาะ เรารู้สึกว่าเราอยากทำ อยากสร้างต้นแบบให้คนอื่น เราไปฝึกงานต่างประเทศ เราเห็นว่ามันมีโรงพยาบาลสัตว์ exotic ที่สามารถ stand alone ได้ เรารู้สึกว่าเราอยากสร้างสิ่งนี้ให้มีในประเทศของเรา”
 
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Animal Space Exotic pet Hospital ของเรานั่นเอง





โรงพยาบาลสัตว์แปลกในฝัน
 
คุณหมอกล่าวว่าหลังจากที่เล่าความฝันให้คนอื่น ๆ ฟัง หลายคนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าความฝันนี้ดูจะเป็นไปได้ยาก แต่คุณหมอยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจ และเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าตัวเราจะสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ ด้วยระยะเวลาเพียงไม่นานโรงพยาบาลสัตว์แอนิมอลสเปซแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้น สามารถรองรับเคสที่เข้ามาในแต่ละวัน สร้างความประทับใจให้เจ้าของ และช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่วย exotic pet ไปได้หลายชีวิต หลังจากผ่านมาหลายปี คุณหมอจึงตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลจากที่เก่ามาที่ใหม่ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับปริมาณเคสที่มากขึ้นในทุก ๆ วัน
 
เรามองไปรอบๆ ก่อนที่จะถามว่าโรงพยาบาลสัตว์แอนิมอลสเปซนี้ถือว่าเป็นความฝันที่เป็นจริงของคุณหมอหรือไม่
 
“ใช่เลย” คุณหมอตอบด้วยรอยยิ้ม
 
“ที่นี่ถือว่าเป็นความฝันของเราเลย ไม่ใช่แค่ฝันเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่เป็นฝันเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เราอยากมีโรงพยาบาล exotic pet ที่มีทุกอย่างครบวงจร ที่ stand alone อยู่ได้ เราอยากมีโรงพยาบาล exotic pet ที่เป็น educational hospital ได้ เราอยากมีโรงพยาบาล exotic pet ที่เป็น referral hospital ได้ และเราอยากมีโรงพยาบาล exotic pet ที่เป็น reference hospital ได้” คุณหมอขยายความต่อว่า reference hospital คือโรงพยาบาลต้นแบบที่อยากให้คุณหมอที่มีความฝันอยากทำโรงพยาบาลสัตว์มาศึกษาดูเพื่อเป็นแนวทาง เพื่อให้เห็นข้อดี ข้อเสียในสิ่งที่คุณหมอได้เจอ และสามารถนำไปปรับใช้กับโรงพยาบาลของตนเองต่อไปได้ คุณหมอยังเสริมอีกว่า “คงจะเป็นการดี ถ้าเราทุกคนช่วยกันยกระดับโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อตัวสัตว์ และเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของสัตวแพทย์ต่อไป”

ส่วน educational hospital คือโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คุณหมอ และน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาที่มีความสนใจ ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ได้ฝึกงานในสาขาที่ตนสนใจ และ referral hospital คือโรงพยาบาลที่สามารถรับเคสส่งต่อเพื่อดูแล ทำการวินิจฉัยโรคที่จำเป็นต้องใช้สัตวแพทย์หรือเครื่องมือวินิจฉัยเฉพาะทางได้

“ที่นี่เราพร้อมที่จะรับทุกเคสที่เข้ามาหาเรา เรามีอุปกรณ์พื้นฐานที่ควรจะมี และมีอุปกรณ์เฉพาะทาง เช่น เครื่องตรวจเลือด กล้องส่องตรวจ endoscope หรือแม้แต่ microsurgery เร็วๆ นี้ก็จะนำเข้า CT scan เข้ามา และอื่น ๆ ที่เราคิดว่าครบถ้วนต่อการวินิจฉัยและทำการรักษาสัตว์ ถึงแม้เราจะไม่สามารถทำการวินิจฉัยได้ เราก็มีช่องทางติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยที่พร้อมรับการส่งต่อจากเรา เราอาจจะไม่ได้เก่งที่สุด แต่เรารู้ว่าถ้าไม่สามารถจัดการได้ควรจะส่งต่อไปให้ใคร ในทุก ๆ เคสที่เข้ามาเรามองชีวิตสัตว์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด”






“เราไม่จำเป็นต้องแข่งกันเก่ง เราต้องแบ่งกันเก่ง แล้วเราจะเก่งไปด้วยกัน”
 
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงพยาบาลสัตว์นั้นเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง เมื่อได้ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจแล้วก็ต้องมีการแข่งขันและผลกำไร ทำให้โรงพยาบาลสัตว์ต่างมองกันและกันเป็นคู่แข่งไปโดยปริยาย แต่ทางคุณหมออ้อยกลับไม่ได้คิดแบบนั้น
 
“เราไม่เคยมองว่าโรงพยาบาลที่อื่นเป็นคู่แข่งเรา แต่เป็น partner อะไรที่เราสามารถแบ่งปันกันได้ ไม่ว่าจะอุปกรณ์ หรือความรู้ เราพร้อมที่จะแบ่งปันเพื่อส่งเสริมให้วงการสัตวแพทย์ดียิ่งขึ้นไป”
 
"คนเดียวที่เราควรจะแข่ง คือการแข่งขันกับตัวเราเองให้ดีขึ้น เก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน"
 
 
ส่วนสำหรับน้อง ๆ ที่มีความฝันอยากเป็นคุณหมอสัตว์ exotic คุณหมออ้อยได้ฝากข้อคิดไว้ว่า “อย่าละทิ้งความฝัน เพราะถ้าเมื่อไรที่เราทิ้งความฝันไปแล้ว การจะกลับมาทำตามฝันมันก็จะยากขึ้น อย่าลืมพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เขาให้ความรู้เราได้ ฝึกเราได้ และให้โอกาสเราได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้น้อง ๆ ได้เติบโตในสายงานได้อย่างมั่นคง”


 
 
ติดตามข่าวสารชมรมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษเพิ่มเติมได้ที่ 
Facebook fanpage : ชมรมสัตวแพทย์สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ