โรคอ้วนและไขมันพอกตับในชูก้าไกเดอร์
ชูก้าไกเดอร์มักได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม กินอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตเยอะจนเกินไป เช่น หนอน ขนม ของหวาน อาหารคน ซึ่งส่งผลทำให้อ้วน น้ำหนักเกิน ตับทำงานหนัก และมีไขมันไปพอกตับ โน้มนำทำให้เกิดเนื้องอกที่ตับได้ในที่สุด
น้ำหนักเฉลี่ยที่เหมาะสมของชูก้าเพศเมีย 80-135g ตัวผู้ 100-160g ตามธรรมชาติชูก้าไกเดอร์กินน้ำหวานหรือยางจากต้นไม้ และแมลง แต่เมื่อนำชูก้าไกเดอร์มาเลี้ยงการให้อาหารที่เหมือนในธรรมชาติ เช่น ยางไม้ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก คนเลี้ยงสามารถให้อาหารเม็ดสำหรับชูก้าไกเดอร์ทดแทนได้ ปัจจุบันมีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย ปริมาณที่แนะนำคือ 40-85g/kg/day นอกจากอาหารเม็ดสำเร็จรูปคนเลี้ยงสามารถให้ผลไม้สดหรือแมลงร่วมด้วยได้ เพื่อเพิ่มความน่ากินและเสริมวิตามินให้แก่ชูก้าไกเดอร์
อาการของชูก้าไกเดอร์ที่เป็นโรคตับ เริ่มแรกอาจจะพบอาการซึม เบื่ออาหาร ทานอาหารลดลง น้ำหนักลด อาเจียน เยื่อเมือกเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสีเหลือง ช่องท้องโต หรือมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชักเกร็ง
การวินิจฉัยโรคตับในชูก้าไกเดอร์ ทำได้ด้วยการตรวจร่างกาย ซักประวัติการเลี้ยง X-ray และ Ultrasound ส่วนการตรวจเลือด ทำได้ค่อนข้างยาก การรักษาโรคตับ หากเป็นระยะเริ่มมักตอบสนองต่อการรักษาได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าหากเป็นระยะท้ายๆแล้วมักไม่ตอบสนองต่อการรักษา การรักษาทำได้ด้วยการฉีดยา ทานยา และปรับเรื่องการเลี้ยงโดยเฉพาะเรื่องโภชนาการ
ชูก้าไกเดอร์อ้วนน่ารัก แต่เมื่อน้องป่วยจะน่าสงสารมากๆเลย(T^T) การรักษาโรคตับทำได้ค่อนข้างยาก การป้องกันไม่ให้เกิดโรคตับขึ้นเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า ดังนั้นควรให้อาหารชูก้าไกเดอร์อย่างเหมาะสมเพื่อให้ชูก้าไกเดอร์แข็งแรงแล้วอยู่กับเราไปนานๆน๊าาา