โรคที่เกิดขึ้นในสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาการจัดการความต้องการพื้นฐานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานมักจะไม่แสดงอาการป่วยเด่นชัด หรือ มักจะเก็บซ่อนอาการไว้ ดังนั้น ผู้เลี้ยงต้องเข้าใจถึงความต้องการพื้นฐานของสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ อุณหภูมิ ช่วงแสง ความชื้น กรงเลี้ยง และ อาหาร
1.อุณหภูมิมีความสำคัญมากกับการสร้างภูมิคุ้มกันของสัตว์เลื้อยคลาน การตอบสนองของภูมิคุ้มกันจะอยู่ในระดับสูงที่สุด มักจะสัมพันธ์กับอุณหภูมิที่เหมาะสม สัตว์เลื้อยคลานเป็นสัตว์เลือดเย็น ต้องอาศัยอุณหภูมิจากบรรยากาศภายนอก อุณหภูมิมีผลต่อกิจกรรมและการทำงานของร่างกายที่สุด แต่ละชนิดมีความต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกัน (Prefer optimal temperature zone : POTZ) การใช้แหล่งกำเนิดความร้อน ไม่ควรไปรบกวนช่วงแสงของสัตว์เลื้อยคลาน (light photoperiod) ที่นิยมใช้ คือ หลอดเซรามิค นิยมใช้เป็นขดลวด ซึ่งแตกง่าย พังง่าย ถ้าร้อนจัดหลอดจะตีบ ควรระมัดระวังโดยการหารุ่นที่ทนมากๆ และมีตัววัดอุณหภูมิอยู่เสมอ
2.ช่วงแสง (photoperiod) ระยะของการได้รับแสงต่อวันมีความสำคัญต่อชีวิต หากได้รับไม่เหมาะสม มักจะแสดงให้ระบบสืบพันธ์มีปัญหา เช่น มีการสร้างไข่ผิดปกติ หรือมีเนื้องอกในระบบสืบพันธ์ และหากช่วงแสงในเวลากลางวันลดลงกว่าปกติ จะทำให้เกิดโรคอ้วน หรือ เบื่ออาหารตามมาได้
UV A (320-400 nm) สำคัญในการกระตุ้นการทำงานทั้งหมดของร่างกาย เช่น การแสดงพฤติกรรมที่เป็นปกติ ความอยากอาหาร การสืบพันธ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
UV B (290-320 nm) ช่วยในการสังเคราะห์วิตามิน D3 ซึ่งใช้ในการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร การขาด UV B จะทำให้เกิดโรคกระดูกบางตามมาได้
3.ความชื้น มีความจำเป็นสำหรับการลอกคราบ การวางไข่ และป้องกันการสูญเสียน้ำจากร่างกาย ดังนั้น ควรจัดพื้นที่ให้มีความชื้นที่เหมาะสม อาจใช้ถุงน้ำเกลือแล้วให้น้ำหยดตลอดเวลา วางขวดน้ำหรือถาดน้ำให้คล้ายบ่อน้ำก็ได้ ความชื้นปกติควรอยู่ที่ 60-80 % แต่สำหรับการลอกคราบ ฟักไข่ควรอยู่ที่ 80% ขึ้นไป
4.กรงเลี้ยง ควรศึกษาการดำรงชีวิตของสัตว์เลื้อยคลานชนิดนั้นๆ เพื่อออกแบบกรงให้เหมาะสม เช่น คาเมเลี่ยน ควรใช้กรงทรงสูง และประดับด้วยกิ่งไม้ จัดแสง ความชื้น และ อุณหภูมิ
5.อาหาร เลือกอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์เลื้อยคลานชนิด เช่น งูเป็นพวกสัตว์กินเนื้อ กิ้งก่างส่วนใหญ่เป็นพวกกินแมลง เช่น กลุ่มจิ้งเหลน คาเมเลี่ยน จิ้งจก ตุ๊กแก แต่บางชนิดเป็นพวกกินพืช เช่น อีกัวนา