ทำความรู้จักกับเต่าญี่ปุ่นที่ความจริงแล้วไม่ได้มาจากญี่ปุ่น

ทำความรู้จักกับเต่าญี่ปุ่นที่ความจริงแล้วไม่ได้มาจากญี่ปุ่น

เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง เป็นเต่าน้ำที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เต่าญี่ปุ่นมีต้นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก เพราะหน้าตาที่น่ารัก มีแก้มสีแดงทั้ง 2 ข้างจึงถูกเรียกอีกชื่อว่า เต่าญี่ปุ่น 

เต่าญี่ปุ่นเลี้ยงไม่ยาก และมีอายุไขยาวนานได้ถึง 20 ปี ขนาดตัวโตได้ถึง 15-30 cm เพศผู้จะมีเล็บเท้าหน้ายาวกว่า และมีหางที่เรียวยาวกว่าเต่าญี่ปุ่นเพศเมีย

เต่าญี่ปุ่นเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นหลัก สามารถให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปและเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อกุ้ง ปลา ไก่ สามารถเสริมผักสดได้เล็กน้อย แต่ไม่ควรให้อาหารเยอะเกินไปเพราะจะทำให้เต่าอ้วน และน้ำเสียเร็วขึ้น บริเวณที่เลี้ยงควรมีทั้งบริเวณแอ่งน้ำที่ลึกพอจะให้เต่าสามารถว่ายน้ำได้อย่างอิสระ และมีบริเวณที่สามารถให้เต่าญี่ปุ่นปีนขึ้นมาผึ่งแดดหรือได้รับหลอดรังสี UV เช่นลานทราย หรือหินขนาดใหญ่



   



โรคที่มักพบในเต่าญี่ปุ่น

  1. โรคขาดวิตามิน A

เต่าจะมีอาการตาบวมโปน ตาปิด ซึม ไม่อยากอาหาร ช่องปากอักเสบ มีน้ำมูก คุณหมอจะทำการวินิจฉัยจากการซักประวัติการเลี้ยงและการให้อาหาร การรักษาทำได้ด้วยการฉีดวิตามิน A ทุกๆสัปดาห์ร่วมกับการปรับโภชนาการ สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการให้อาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมและเพียงพอ ผักสีส้ม เหลือง จะมีปริมาณวิตามิน A สูง เช่น แครอท ฟักทอง และควรได้รับแสงแดดและแสง UV อย่างเพียงพอ


โรคฝีที่หู

โครงสร้างหูของเต่าญี่ปุ่นจะไม่มีช่องเปิดหูชั้นนอกเหมือนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อเกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย หูเต่าจะอักเสบ บวมนูน ซึ่งอาจจะเป็น 1 หรือ 2 ข้างก็ได้ สามารถติดย้อนขึ้นมาจากช่องปากได้ด้วย ลักษณะฝีของเต่าจะค่อนข้างข้นเหนียว และมีแคปซูลห่อหุ้ม หากโรครุนแรงสามารถพบการติดเชื้อกัดกินเข้าไปในกระดูกได้ ฝีที่หูสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ หรือการผ่าตัด ป้องกันได้ด้วยการดูแลความสะอาดของน้ำที่เลี้ยง หากเต่ามีแผลให้รีบทำแผลเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อแทรกซ้อน

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

ผิวหนังเต่าแดงอักเสบ หลุดร่อน มีเศษเนื้อตาย มักเกิดจากเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ไม่สะอาด ไม่มีการเปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งรูปแบบฉีดและฟอกหรือทา ร่วมกับมีการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการพักน้ำก่อนเติม และเปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ ให้อาหารในปริมาณเหมาะสมไม่มากเกินไปจนน้ำเน่าเสีย หากทิ้งไว้จนอาการรุนแรง อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้