ภาวะตับบิดในกระต่าย อันตรายกว่าที่คิด

ภาวะตับบิดในกระต่าย อันตรายกว่าที่คิด

ในหลายๆปีที่ผ่านมา เราพบว่า กระต่ายที่มาด้วยอาการ ซึมเบื่ออาหาร และท้องอืด อาจจะไม่ได้เป็นแค่ ท้องอืดธรรมดา แต่ อาจจะมีภาวะตับบิดแทรกซ้อนมาได้

ภาวะตับบิด หรือ liver lobe torsion คืออะไร ? ตับกระต่ายแบ่งออกได้หลายพู ในแต่ละพูจะมีเส้นเลือดใหญ่ที่เข้าไปเลี้ยงตับ และ ภาวะตับบิดคือการที่ตับพูใดพูหนึ่งเกิดการบิด ขึ้นมา ทำให้เลือดแดง ไม่สามารถไปเลี้ยงตับได้ และเลือดดำ ไม่สามารถไหลกลับได้ ซึ่งจะทำให้ตับเกิดภาวะบวมและขาดเลือด และหากทิ้งไว้เป็นเวลานาน กระต่ายจะเริ่มปวดท้อง และ ตับเริ่มปริและมีเลือดไหลออกมาจากตับมาอยู่ในช่องท้อง ซึ่งกระต่ายอาจจะไม่ได้แสดงอาการก่อนหน้าเลย

อาการของตับบิด มักไม่แสดงออกชัดเจน แต่กระต่ายมักจะแสดงออกด้วยอาการ ตัวซีด ซึม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่กินอาหาร ไม่ค่อยขยับตัวและหากปล่อยไว้นาน อาจจะมีอาการชัก ช๊อก และ เสียชีวิตได้


การวินิจฉัย สามารถทำได้โดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเราจะใช้ เครื่องมือ 3 อย่างในการวินิจฉัย
1.การตรวจร่างกาย จะพบว่ากระต่าย จะแสดงอาการปวดท้องอย่างมาก เวลาคลำตรวจ และ อาจจะคลำพบตับพูที่ผิดปกติได้
2.การตรวจเลือด เราจะพบว่า กระต่ายมีภาวะเลือดจาง เนื่องจาก มีการเสียดเลือดในช่องท้อง และ พบว่าค่าตับ หรือ Liver enzyme มีค่าที่สูงขึ้นมากว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด
3.การ Ultrasound เป็นการ Confirm ถึงเนื้อตับ และ เลือดที่เข้าไปเลี้ยงตับ รวมถึงภาวะที่พบของเหลว (เลือดในช่องท้อง)

การรักษามีหลายขั้นตอน ในกระต่ายที่ยังไม่ได้มีภาวะโลหิตจาง จำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพื่อตัดตับพูที่ผิดปกติออก หากพบว่ากระต่ายมีภาวะโลหิตจางรุนแรง จำเป็นจะต้องถ่ายเลือด ก่อนการผ่าตัด หรือ ถ่ายเลือดระหว่างผ่าตัด โดยอัตรารอดของกระต่าย ขึ้นกับความเร็วของการวินิจฉัย และ การผ่าตัด

แล้วเราจะป้องกันภาวะตับบิดในกระต่ายได้อย่างไร ภาวะตับบิดในกระต่ายมักเกิดขึ้นได้เองโดยอาจจะไม่มีอาการอะไรล่วงหน้า อาจจะมีเพียงแต่ซึม ไม่กินอาหาร อึเล็กลง ดังนั้น หากพบว่ากระต่ายที่เลี้ยงอยู่มีความผิดปกติไปจากเดิม อย่าลืมปรึกษาสัตวแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว

ด้วยความปราถนาดีจากทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์แอนิมอลสเปซ