โรคตับบิดมีสาเหตุจากอะไร สังเกตอย่างไรและแนวทางการรักษาเป็นอย่างไรกันนะ
ที่โรงพยาบาลแอนิมลสเปซมักจะเจอเคสตับบิดในกระต่ายอายุเฉลี่ย 1 ปี เด็กที่สุดที่เป็นตับบิดอยู่ที่ 4 เดือน ส่วนใหญ่มักจะเจอในสายพันธุ์ Hooland lop เนื่องจากอาจจะด้วยความนิยมที่เลี้ยงกันหลายบ้านทำให้เจอพันธุ์นี้เยอะที่สุด
สาเหตุของโรคตับบิดอาจระบุได้อย่างไม่ชัดเจน แต่จากการศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลพบว่ามีสาเหตุหลักๆอยู่ 2 อย่างคืออาการท้องอืดและกระเพาะอาหารขยาย
1.อาการท้องอืด มักเจอบ่อยครั้งเนื่องจากการทานอาหารไม่เหมาะสม เช่น การให้ทานผักและผลไม้สดเป็นประจำ ให้อาหารเม็ดในปริมาณมาก หรือขนมที่น้องชอบบ่อยๆ จนทำให้เกิดนิสัยไม่กินหญ้าแห้งขึ้น ส่งผลให้มีอาการท้องอืดขึ้นมา นอกจากอาหารแล้วเรื่องความเครียดก็ส่งผลให้มีอาการท้องอืดได้เช่นกัน
2.กระเพาะอาหารขยาย มักเจอในกระต่ายที่ตะกละ ชอบกินอาหารเยอะมากๆในคราวเดียว กินแปปเดียวก็หมด เมื่อไม่อยากต้องเดินมาเติมหญ้าบ่อยๆ บางบ้านเลยอาจจะมีการวางหญ้าเป็นกองใหญ่เพื่อหวังให้น้องกินได้นานๆ แม้บางตัวจะกินเรื่อยๆ แต่บางตัวก็จะกินไม่หยุดพักจนทำให้กระเพาะขยายใหญ่ขึ้นมาจนเบียดอวัยวะภายในอื่นๆ โดยเฉพาะตับ ทำให้เกิดการบิดตัวกลายเป็นตับบิดนั่นเอง
วิธีการสังเกตอาการง่ายๆจากบ้าน
1.ดวงตา
ปกติ - กลมโตสดใส
ปานกลาง - เริ่มหรี่ตาลงแต่ยังสดใสอยู่
มาก - ตาหรี่มากๆ จนกลายเป็นเส้นขีด
2.แก้ม
ปกติ - ทรงกลม
ปานกลาง - ค่อยๆแหลมขึ้น
มาก - หน้าแหลมจนไม่เห็นแก้ม
3.จมูก
ปกติ -เป็นตัวยู
ปานกลาง - ค่อยๆหุบเข้ามา
มาก - กลายเป็นรูปตัววี
4.หนวด
ปกติ - หนวดตั้งตรง
ปานกลาง - มีบางส่วนที่หย่อน
มาก - หนวดหย่อนลง หงิก
5.หู
ปกติ - หูตั้งตรง
ปานกลาง - หูเริ่มเอียงไปด้านหลัง
มาก - หูลู่ไปด้านหลัง
ถ้ายังดูหน้าตาน้องไม่ค่อยออกเพราะอาจจะเก็บอาการ สามารถดูวิธีอื่นๆได้ คือ อึผิดปกติ ขนาดเล็ก ขนาดไม่เท่ากัน หรือไม่อึ มีนั่งกกไข่ กินหญ้าน้อยลงหรือให้ขนมที่ชอบก็ไม่กิน เริ่มซ่อนตัว บางตัวไม่ยอมให้จับเพราะปวดท้อง
การวินิจฉัยโรคตับบิด
- ตรวจร่างกาย
คุณหมอจะเริ่มจากดูอาการน้องตอนอยู่ในตะกร้าก่อนว่ามีท่าทางเป็นอย่างไร หน้าตาโอเคหรือเปล่า จากนั้นจะอุ้มน้องออกมาเพื่อตรวจบนโต๊ะตรวจ และคลำตรวจอย่างละเอียดและลึกขึ้น โดยจะเน้นไปทางขวาหน้าที่เป็นตำแหน่งของตับเพื่อคลำลักษณะว่าเริ่มมีความแข็งมากขึ้นหรือยัง และระหว่างคลำตรวจน้องได้แสดงอาการเจ็บปวดออกมาหรือเปล่า
ต่อมาฟังเสียงหัวใจ เสียงปอด และการเคลื่อนที่ของลำไส้ว่ามีการเคลื่อนตัวช้ากว่าปกติหรือเปล่า และตามด้วยการตรวจสีเยื่อเมือกจากบริเวณเหงือกและเยื่อบุตาขาว หากสีเดิมที่เคยชมพูสดใสเริ่มซีดลงและขาว เป็นไปได้ว่าอาจจะมีอาการตับบิด
อาการอื่นๆที่มักจะพบตับบิดจากน้องกระต่ายที่พามา จะพบว่าอ่อนแรง มีภาวะขาดน้ำ อุญหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติหรือบางครั้งแค่ตรวจสุขภาพร่างกายตามปกติก็คลำเจอ
2.ตรวจเลือด
การตรวจนี้จะช่วยให้มองเห็นลึกขึ้นว่าตัวค่าเลือดต่างๆยังอยู่ในเกณฑ์ปกติดีหรือเปล่า โดยเฉพาะค่า AST และ ALT ซึ่งจะบ่งบอกได้ว่าน้องกระต่ายเป็นโรคตับบิดหรือเปล่า ในข้อมูลที่แอนิมอลสเปซเก็บมา เคสที่เจอค่าเลือดสูงสุดอยู่ที่ AST 1297 จากค่าปกติ 98 และ ALT 2626 จากค่าปกติ 109
ในเคสที่มีค่าเม็ดเลือดต่ำกว่าปกติ 15% คุณหมอจะทำการถ่ายเลือดก่อนผ่าตัดหรือระหว่างผ่าตัด ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีไป
ส่วนบ้านไหนที่มาตรวจแล้วค่าเลือดปกติทุกอย่างไม่ต้องเสียดายน้า ถือว่าเป็นการตรวจสุขภาพเก็บไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบต่อไปแทนค่า
การวินิจฉัยโรคตับบิด
- เอ็กซเรย์
ที่โรงพยาบาลของเราจะทำการถ่ายฟิล์มจำนวน 2 ท่าด้วยกันคือ ท่านอนหงายและท่านอนตะแคง การดูว่ามีลักษณะตับบิดหรือเปล่าจะสังเกตที่ตัวตับกับซี่โครง มีการขยายตัวของตับเลยออกมาจากซี่โครงเยอะเกินไปหรือเปล่า จากนั้นสังเกตที่ขอบของตับว่ามีลักษณะโค้งมนขึ้นไหม และดูช่องท้องทั้งหมดว่าเกิดแก๊สเยอะแค่ไหนเพื่อรักษาอาการท้องอืดร่วมด้วย
แต่วิธีนี้มักจะมองเห็นว่าเป็นตับบิดได้ไม่ชัดเจนนัก แต่จะสามารถเห็นภาพรวมของช่องท้องได้จึงมักทำในเคสที่ดูมีปัญหาระบบทางเดินอาหารอื่นๆร่วมด้วย
4.อัลตราซาวด์
คุณหมอลูกเกดจะเป็นคุณหมอซาวด์หลักๆของโรงพยาบาล ทุกครั้งที่จะต้องทำการซาวด์ดูอวัยวะภายใน จะขอโกนบริเวณท้องน้องออกสักหน่อย เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนและวินิจฉัยได้แม่นยำ เมื่อเริ่มซาวด์คุณหมอจะใช้หัวโขลกกดลงไปบริเวณท้องส่วนบนเพื่อดูลักษณะตับว่าขอบเนื้อเริ่มมีความกลมมนขึ้นหรือเปล่า สีที่เห็นภายในตับจากปกติที่มีสีเดียวเฉดเท่ากัน มีการผสมกันระหว่างสีขาวและสีดำไหม และสุดท้ายคุณหมอจะใส่ color dropper เพื่อดูเลือดภายในว่ายังมีการเลี้ยงตับเหมือนเดิมหรือเปล่า หากพบว่าไม่มีเลือดเลย หมายความว่าน้องคนนั้นมีโอกาสเป็นตับบิด
การรักษาโรคตับบิด
วิธีการอาจจะไม่ได้ยาก แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเนื่องจากทางแอนิมอลสเปซจะใช้วิธีการรักษาแบบ supportive และการผ่าตัดพร้อมๆกัน
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหากตัวน้องอาการไม่ดีจะใช้อุปกรณ์และยาในการ supportive ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดปวด ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด แน่นอนว่าแค่วิธีนี้เพียงอย่างเดียวทำให้โอกาสที่น้องจะหายดีและรอดชีวิตมีค่อนข้างน้อยกว่า 50% เพราะเนื้อตับที่เสียหายไปแล้วยังคงอยู่ภายในร่างกาย หลังจากประคองอาการน้องให้คงที่แล้วคุณหมอจะทำการผ่าตัดฉุกเฉินทันที ด้วยการดมยาสลบซึ่งเป็นยาชนิดปลอดภัยกว่ายาฉีด รวมถึงระหว่างการผ่าตัดมีพี่พยาบาลคอยมอนิเตอร์การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ออกซิเจนในเลือดไปด้วย เพื่อมั่นใจว่าน้องยังปลอดภัย
เนื่องจากตับบิดถือเป็นเคสผ่าตัดฉุกเฉิน หากบ้านไหนพบอาการแปลกๆแนะนำให้รีบพาเข้ามาทันที เพราะถ้าได้รับการรักษาไว โอกาสที่น้องๆจะรอดชีวิตและหายดีก็จะมีเพิ่มมากขึ้น
การดูแลหลังผ่าตัด
1.Admit 3-7 วัน
อย่างแรกหลังจากออกมาจากห้องผ่าตัด คุณหมอจะแนะนำให้ดูอาการอยู่ที่โรงพยาบาลหรือแอดมิดประมาณ 3-7 วัน ระยะเวลานี้จะขึ้นอยู่กับอาการน้องในแต่ละวันอีกที
2.ตรวจเลือดซ้ำ
เด็กตับบิดที่มีค่าเลือดผิดปกติ จะต้องมีการตรวจเลือดซ้ำเพื่อตรวจว่าค่าเลือดกลับมาเป็นปกติแล้วหรือยัง และถ้ายังไม่ปกติคุณหมอจะหาวิธี supportive ในแต่ละส่วนนั้น ซึ่งจะมีการตรวจซ้ำทุก 1 หรือ 3 หรือ 7 วันแล้วแต่อาการน้องๆแต่ละตัว
3.ป้อนอาหารเสริม
ในน้องกระต่ายที่ออกจากห้องผ่าจะมีบางตัวที่เจ็บแผลทำให้ไม่เกิดความอยากอาหาร พี่พยาบาลจึงคอยช่วยป้อนอาหารเสริมให้น้องๆไม่ว่าจะเป็น critical care, rabbit care หรือ emeraid herbivore เพื่อให้ทางเดินอาการมีการเคลื่อนตัวตามปกติ
4.ให้ยาลดความเจ็บปวด
แน่นอนว่าให้กินอาหารคงไม่พอให้ระบบกลับมาทำงานได้ปกติ น้องบางตัวจึงต้องมีการให้ยาช่วยลดปวดเพิ่มด้วยไม่ว่าจะเป็นยาทางเส้นเลือด ยาฉีดหรือยากิน
5.สังเกตการขับถ่ายและการกินทุกวัน
ในทุกๆวันทั้งคุณหมอและพี่พยาบาลจะมีการจดบันทึกประจำวัน วันละ 2 รอบเพื่อดูว่าน้องกระต่ายสามารถกลับมาขับถ่ายได้ตามปกติหรือยัง และเริ่มมีการกินหญ้าเองได้หรือเปล่า หากปกติดีแล้วทุกอย่าง ก็สามารถกลับบ้านได้จ้า
วิธีป้องกันไม่ให้เป็นตับบิด
แม้จะหาวิธีป้องกันได้ยาก แต่ก็ยังมีบางอย่างที่พอทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องอืดและกระเพาะขยายที่โน้มนำให้เกิดตับบิด นั่นก็คือ ดูแลเรื่องอาหารการกินและมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ