โรคที่พบบ่อยในกระต่าย

โรคที่พบบ่อยในกระต่าย

ประกอบไปด้วยโรคจากหลายระบบ โดยอาจจะแบ่งได้เป็นช่วงอายุ

กระต่ายเด็ก เราจะยกมา 3 โรคหลักๆ

โรคที่เราพบได้เสมอคือ โรคผิวหนังจากปรสิต เช่น โรคไรขี้เรื้อน ไรในหู ไรขน และไรรังแค ซึ่งมักพบมากกว่า 50 % ของกระต่ายเด็กที่ย้ายบ้านใหม่ โดยโรคผิวหนังจากปรสิตนี้จะทำให้กระต่ายเกิดการรำคาญ เกาตัวเองรวมถึงทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยการรักษาสามารถทำได้โดยการหยอดยารักษา ไม่แนะนำให้หยอดเองเนื่องจากอาจจะทำให้กระต่ายชักและเสียชีวิตได้หากเลือกใช้ยาที่ผิดและขนาดที่มากเกินไป

โรคที่สองคือโรคท้องเสีย ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยๆคือ การติดเชื้อบิด (Coccidiosis ) ซึ่งการติดเชื้อบิดถือเป็นภาวะที่อันตรายมากเนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของกระต่ายเด็ก โดยอาการหลักที่จะพบคือกระต่ายจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูก หรือมีเลือดปน ซึ่งโอกาสรอดชีวิตขึ้นอยู่กับอาการและการพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

โรคที่ 3 คือ โรคชักในกระต่ายเด็ก สาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้นๆของกระต่ายย้ายบ้านใหม่ๆ นอกจากระต่ายท้องเสียแล้ว อีกโรคคือกระต่ายชัก เนื่องจากขาดสารอาหารที่เหมาะสม หรือ หย่านมก่อนวัยอันควร เป็นที่น่าเสียใจที่การหลอกขายกระต่ายเด็กยังไม่จบสิ้นจากประเทศไทย ทำให้ผู้เลี้ยงมือใหม่โดนหลอกขายกระต่ายเด็ก และกระต่ายเหล่านั้น 99% คือยังไม่หย่านม โดยอายุที่มักหลอกขายให้ผู้เลี้ยงมือใหม่คือ 3 อาทิตย์ แต่กระต่ายหากอย่านมก่อน 8 อาทิตย์จะทำให้อัตราการตายสูงมาก อาการของโรคน้ำตาลต่ำ หรือขาดสารอาหารในกระต่ายเด็กคือ มีอาการซึม ไม่ขยับ และมีอาการชัก เนื่องจากน้ำตาลในเลือดตก โดยการรักษาคุณหมอจะรีบให้น้ำเกลือและน้ำตาลกลูโคสเข้ากระแสเลือด การรอดชีวิตของกระต่ายขึ้นกับความรวดเร็วในการพามาพบสัตวแพทย์ หากไม่แน่ใจว่ากระต่ายอย่านมรึยังแนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อปรึกษาการเลี้ยงดู และ ให้นมทดแทน เช่น นมสุนัข หรือ นมแมว

กระต่ายช่วงวัยรุ่นและวัยชรา โรคที่มักพบได้บ่อยๆ คือ

โรคฟันยาวและฝีรากฟัน ซึ่งโรคฟันในกระต่าย เกิดขึ้นได้ทั้งฟันหน้าและฟันกรามของกระต่าย สาเหตุของของฟันยาวเนื่องจากกระต่ายมีปัญหาของการสบกันของฟัน โดยปกติแล้ว ฟันกระต่ายจะมีการงอกยาวตลอดชีวิต ทั้งฟันหน้าและฟันกราม หากการให้อาหารที่ผิด และการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเช่น ทานแต่ผักนิ่มๆ และอาหารเม็ดไม่เคยให้หญ้าเลย อาจจะเป็นสาเหตุโน้มนำทำให้เกิดฟันยาวได้ และโน้มนำทำให้เกิดฝีรากฟันตามมา ซึ่งหากพบว่าบริเวณใบหน้ามีการบวมขึ้น อาจจะเป็นตำแหน่งฟันกราม หรือใต้ดวงตา อาจจะเป็นหนึ่งในอาการเริ่มต้นของฝีรากฟัน

โรคมะเร็งมดลูก ในกระต่ายที่อายุ 4 ปีขึ้นไปและยังไม่ทำหมัน 80 % พบว่ามีความผิดปกติที่มดลูก ทั้งที่แสดงอาการ หรือ ไม่แสดงอาการ โดยอาการที่มักพบบ่อยๆ พบว่ามีเลือดไหลออกจากอวัยเพศ หรือ ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ฉี่เป็นเลือด โดยการป้องกันและรักษาที่ดีที่สุดคือ การทำหมันในช่วงอายุที่เหมาะสม เช่น ก่อนอายุ 2 ปี

โรคตับบิด ในปัจจุบันเนื่องจาก การวินิจฉัยทำได้ครอบคลุมมากขึ้น อาการตับบิดในกระต่ายนั้น ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษา อย่างทันที โดยอาการที่กระต่ายแสดงออกนั้น จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด โดยตับที่บิดนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมีสาเหตุโน้นนำมาจากการที่กระเพาะขยายทำให้เบียดตับ การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือด และ ultrasound ร่วมกัน โดยการรักษานั้นทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไขภาวะตับบิด

โรคโปรโตซัวขึ้นสมอง (E.Cuniculi) หรือโรคคอเอียง เกิดจาก โปรโตซัว ที่มีการเคลื่อนที่ไปที่สมองและทำให้สมองเสียหาย โดยการติดเชื้อโปรโตซัวนี้ สามารถติดได้ตั้งแต่อยู่ท้องแม่ หรือได้รับเชื้อภายหลังผ่านทางการกิน สปอร์ของเชื้อเข้าไปโดยอวัยวะหลักๆ ที่มีปัญหาหลังจากการติดเชื้อเข้าไปคือ ไต ตา และ สมอง การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจเลือด หรือ ตรวจปัสสาวะโดยเทคนิค PCR เพื่อหาเชื้อในปัสสาวะ การรักษาสามารถทานยาเพื่อฆ่าโปรโตซัวได้โดยทานต่อเนื่อง 14-28 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ