ทำไมถึงต้องพางูไปหาคุณหมอและถ่ายพยาธิ



ทำไมถึงต้องพางูไปหาคุณหมอและถ่ายพยาธิ

พางูไปตรวจสุขภาพและถ่ายพยาธิกันเถอะ

 

รู้หรือไม่!? งูสามารถติดพยาธิได้จากสิ่งแวดล้อมหรือจากอาหารที่กินเข้าไป เพราะส่วนมากงูกินของสด เช่น หนูสด หนูแช่แข็ง ลูกเจี๊ยบสด ลูกเจี๊ยบแช่แข็ง ซึ่งสามารถมีพยาธิปนเปื้อนได้ ดังนั้นจึงควรพางูไปตรวจสุขภาพและถ่ายพยาธิกับคุณหมอเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน (ปีละ 2 ครั้ง) และสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป นอกจากนั้นยังแนะนำให้เก็บอุจจาระมาตรวจใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจเชื้อก่อโรคต่างๆ เช่น พยาธิ ไข่พยาธิ โปรโตซัวหรือเชื้อยีสต์ เป็นต้น





ตัวอย่างเคส: เคสนี้เป็นน้องงูคอร์น(Corn snake) มาพาคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพและถ่ายพยาธิ แต่เมื่อคุณหมอทำการตรวจอุจาระใต้กล้องจุลทรรศน์กลับพบพยาธิว่ายดุ้กดิ้กอยู่ตามภาพ คุณหมอจึงรีบทำการถ่ายพยาธิให้ทันทีและแนะนำให้เจ้าของทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงรวมถึงตรวจสอบอาหารว่ามีคุณภาพที่เหมาะสมหรือไม่

โรคอื่นๆที่พบได้ในงู

โรคช่องปากอักเสบ

งูจะมีอาการน้ำลายไหล ช่องปากแดงอักเสบ พบจ้ำเลือดออก เมือก ไม่กินอาหาร สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาได้ด้วยการล้างช่องปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ พ่นยา และใช้ยาฆ่าเชื้อแบบฉีด ร่วมกับการให้วิตามิน โดยเฉพาะวิตามิน A และ C


 
โรคลอกคราบไม่สมบูรณ์บริเวณเปลือกตา

งูมีอวัยวะที่เรียกว่า spectacle หรือ eye cap คลุมปิดอยู่ที่กระจกตา เมื่อมีการลอกคราบทุกครั้งส่วนของ spectacle ควรจะถูกลอกคราบไปพร้อมกับส่วนอื่นๆ แต่หากมีสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ความชื้นไม่เพียงพอ จะทำให้คราบบริเวณตายคดติดอยู่กับกระจกตา และทำให้งูมองเห็นไม่ชัดเจน หากทิ้งไว้นานจนเกินไป จะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาและทำให้กระจกตาเป็นแผลและอักเสบตามมาได้ วิธีการรักษาทำได้ด้วยการชุบน้ำอุ่นบริเวณคราบที่คงค้างอยู่ให้นิ่ม แล้วค่อยๆดึงออกอย่างเบามือ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้ด้วยการเพิ่มความชื้นให้งูช่วงลอกคราบ มีหินหรืออุปกรณ์ให้งูได้ถูลำตัวเพื่อให้คราบหลุดง่ายขึ้น




การติดเชื้อโปรโตซัวและไวรัส

เชื้อโปรโตซัว Cryptosporidium งูจะมีอาการขย้อนอาหาร น้ำหนักลด อ่อนแรง เชื้อตัวนี้จะติดเชื้อบริเวณทางเดินอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารหนาตัวขึ้น ลำไส้ไม่บีบตัว จึงทำให้คลำตรวจพบลักษณะแข็งบริเวณกลางลำตัว สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา แต่มักไม่ตอบสนอง

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Retrovirus หรือ Arenavirus คือ Inclusion body disease มักพบในงูโบอา และ python งูที่ติดเชื้อจะมีอาการทางระบบประสาท เมื่อหงายแล้วจะไม่สามารถพลิกตัวกลับมาได้ เลื้อยผิดปกติ และเชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ โรคนี้ไม่มีวิธีการรักษา งูจะเสียชีวิตหลังจากแสดงอาการไม่กี่วันหรือสัปดาห์