โรครากฟันงอก หรือ Pseudo-Odontoma ที่เราคุ้นเคยนั้น




โรครากฟันงอก หรือ Pseudo-Odontoma ที่เราคุ้นเคยนั้น (บางตำราใช้คำว่า Odontogenic Tumor หรือ Odontogenic like Tumor ซึ่งน่าจะครอบคลุมกว่า)

อาการแสดงของโรคสามารถเกิดได้ทั้ง รากฟันตัดบน และรากฟันตัดล่าง แต่มักจะพบปัญหาที่รากฟันตัดบนมากกว่า โดยความผิดปกตินี้อาจทำให้มีอาการได้ตั้งแต่น้ำมูกไหลไปจนถึงหายใจลำบากขึ้นอยู่กับความรุนแรง ส่วนวิธีการรักษา สามารถรักษาทางยาเพื่อพยุงอาการ หรือการผ่าตัด

การรักษาทางยาหรือการรักษาตามอาการนั้น อาจให้ยาปฎิชีวนะ  Decongestant, ยาลดอักเสบในกลุ่ม Steroid หรือยาอื่นๆ ร่วมกับการพ่นยา และให้ออกซิเจนบำบัด

ส่วนการผ่าตัดสามารถทำได้หลายวิธี สำหรับกระรอก วิธีที่นิยมคือ Transpalatal ในกระรอกมีรากฟันขนาดใหญ่มาก แต่หากรากฟันยังไม่แย่ แต่มีแนวโน้มที่จะผิดปกติ การถอนฟันด้วยเทคนิค Standard Extraction ก็สามารถทำได้ ส่วนการทำ Rhinostomy นั้นนิยมทำใน Prairie dog มากกว่า

การวางยาสลบนั้น gold standard ยังแนะนำให้สอดท่อช่วยหายใจเพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉิน และป้องกัน Aspiration Pneumonia โดยสามารถใช้ ท่อช่วยหายใจเบอร์ 1 หรือ 1.5 (ถ้าใครหาอยู่ แบ่งให้ได้เล็กน้อยครับ เป็น Silicone ท่อนิ่มยิ่งกว่าเส้นโรตี ไม่ทำอันตรายหลอดลมน้อง) หรือหากไม่มี ก็สามารถประยุกต์ใช้ Feeding tube เบอร์ 5 หรือเบอร์ 8 ตามขนาดตัวได้เช่นกัน (ตามภาพที่ 2 โดยใช้ ultra-low dead space circuit และ side stream capnometer) แต่หากไม่ได้สอดท่อ การใช้ Facemask เช่น rodent facemask ก็สามารถใช้ร่วมกับการวางยาด้วยยาสลบชนิดฉีดเช่นกัน แต่ระหว่างทำอาจจะต้องจัด position ตัวสัตว์ให้ดีเพื่อป้องกันภาวะ Aspiration Pneumonia

สาเหตุของการเกิดโรค ยังไม่มีการรายงานการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอาจจะเป็นการให้อาหารที่อ่อนหรือแข็งเกินไป รวมทั้งการกัดแทะกรงเหล็ก

ในปัจจุบัน ด้วยเทคนิคการผ่าตัด การวินิจฉัย และยาที่ดีขึ้น ทำให้อัตราการประสบความสำเร็จในการผ่าตัดมีมากขึ้นกว่าอดีต

เป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่กระรอกและแพรี่ด็อกทุกตัวที่ประสบปัญหานี้ ซึ่งหากใครตัดสินใจรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดก็ขอให้ค่อยๆ ตัดสินใจ ค่อยๆ  ทำความเข้าใจกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าทางใด ผมเชื่อว่ามันน่าจะเหมาะสำหรับที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้นๆแล้ว

#หน่วยศัลยกรรมสัตว์เลี้ยงพิเศษ

#ansให้เราเป็นคำตอบของทุกการรักษา