ปัญหาตาแฉะในกระต่าย

อาจเห็นเป็นคราบสีสนิมหรือสีน้ำตาลอย่างชัดเจนในกระต่ายสีขาว อาการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ ไม่ว่าจะเป็น กระต่ายทานอาหารลดลง ไอ จาม มีน้ำมูกร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุโน้มนำให้เจ้ากระต่ายน้อยเกิดอาการที่เรียกว่า ตาแฉะ ก็เป็นได้
ก่อนอื่นเรามาแยกสาเหตุของอาการนี้กันก่อนดีกว่า อาการตาแฉะมีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า Epiphora สาเหตุที่โน้มนำทำให้เกิดอาการนี้เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ
1. มีการอุดตันของท่อน้ำตาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น


• การอักเสบของท่อน้ำตา ซึ่งเรียกทางการแพทย์ว่า Dacyocystitis สาเหตุของการอักเสบเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณท่อน้ำตา หรือเกิดจากการที่มีความผิดปกติของรากฟันที่ยาวผิดรูป หรือยาวมากเกินไปจนไปกดทับท่อน้ำตา จนทำให้ท่อน้ำตาเกิดการอักเสบและอุดตันตามมา
• เกิดการบวมบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ ท่อน้ำตา จากโรคติดเชื้อ เช่น โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัสอักเสบ
• เกิดอุบัติเหตุการกระแทกบริเวณกระดูกขากรรไกรบน หรือ Maxilla ทำให้ท่อน้ำตาเกิดการอักเสบ
• เนื้องอกที่บริเวณส่วนของกระดูกขากรรไกรบน ใบหน้า หรือบริเวณรอบ ๆ ตา ซึ่งมีผลทำให้ท่อน้ำตาถูกกดทับ

2. มีการสร้างน้ำตามากกว่าปกติจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
• การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคือง มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพิ่มมากขึ้นในส่วนบริเวณการติดเชื้อ ส่งผลให้มีการสร้างน้ำตาเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค
• มีสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งไปกระตุ้นการสร้างน้ำตาเพิ่มขึ้น
• เกิดแผลหลุมที่กระจกตา
• และสาเหตุอื่นๆ

                กระจกตาเป็นแผลจากการติดเชื้อ

โดยอาการโรคตาแฉะนี้จะพบได้ในกระต่ายทุกสายพันธุ์ และทุกช่วงอายุ ซึ่งสาเหตุโน้มนำโรคในแต่ละช่วงอายุก็อาจจะแตกต่างกันไป เช่น อาจพบว่าสาเหตุโน้มนำจากการเกิดเนื้องอกจะพบได้มากกว่าในกระต่ายอายุมาก สาเหตุโน้มนำจากปัญหาความผิดปกติของฟันจะพบบ่อยในกระต่ายที่มีประวัติฟันยาว หรือฟันเจริญผิดรูป ซึ่งปัญหานี้ก็อาจมีสาเหตุโน้มนำมาจากเรื่องอื่น ๆ อีก ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อเกี่ยวกับปัญหาความผิดปกติของฟันกระต่ายในครั้งต่อไป โรคตาแฉะจะพบอาการที่เด่นชัดดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ กระต่ายมีน้ำตาเพิ่มมากกว่าปกติจนเปรอะบริเวณหัวตาและพบว่ามีขี้ตาเพิ่มมากกว่าปกติด้วย
เมื่อไปหาคุณหมอก็จะทำการวินิจฉัยเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหา คือ

• ย้อมสีตาเพื่อดูแผลที่กระจกตา โดยใช้สี Fluorescene และตรวจสอบการอุดตันของท่อน้ำตาโดยการใช้ น้ำสะอาดปราศจากเชื้อ หรือ น้ำเกลือ ล้างเข้าไปในท่อน้ำตา โดยท่อน้ำตาก็คือรูที่อยู่บริเวณเปลือกตาด้านล่าง คุณหมอก็จะสอดท่อขนาดเล็ก ๆ เข้าไปแล้ว flush ล้าง หากท่อน้ำตาของกระต่ายปกติน้ำที่คุณหมอ flush เข้าไปก็จะไหลออกมาทางจมูกเป็นน้ำใส ๆ เหมือนเดิม แต่หากมีการอักเสบก็จะพบว่าน้ำที่ไหลออกมาจากจมูกเป็นสีขาวขุ่น หรือบางตัวอาจจะไม่มีน้ำออกมาทางจมูกได้เลยเนื่องจากเกิดการอุดตันของท่อน้ำตาเรียบร้อยแล้ว

• ถ่ายภาพรังสีเพื่อดูลักษณะของรากฟันและขากรรไกรเพิ่มเติมหลังจากการ flush ท่อน้ำตา ในกรณีที่คาดว่าสาเหตุโน้มนำมาจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งส่วนนี้อาจต้องมีประวัติจากเจ้าของช่วยเพิ่มเติมในการวินิจฉัย เช่น ทานอาหารลดลง มีอุบัติเหตุ พ่อแม่หรือพี่น้องของเจ้ากระต่ายน้อยเคยมีปัญหาเกี่ยวกับฟันมาก่อน อาจสังเกตอาการอื่น ภายนอกร่วมด้วย เช่น มีการอักเสบบวมบริเวณใบหน้า รอบ ๆ ตา หรือมีฝีเกิดขึ้นบริเวณขากรรไกรด้านบน นอกจากนี้ยังมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในท่อน้ำตาแล้วถ่ายภาพรังสีเพื่อดูลักษณะ และบริเวณของท่อน้ำตาที่อุดตันได้อีกด้วย ซึ่งการวินิจฉัยเพิ่มเติมต่าง ๆ เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอและอุปกรณ์ที่มีภายในคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์นั้น ๆ
สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุโน้มนำที่ทำให้เกิดโรค โดยส่วนมากจะทำการรักษาโดย

• รักษาการอักเสบและการอุดตันของท่อน้ำตารักษาโดยล้างท่อน้ำตาร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบกินและหยอดตา
• รักษาที่ต้นเหตุของโรค เช่น แผลหลุมรักษาโดยการใช้ยาหลอดตาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ถ้าเราเห็นว่ากระต่ายที่เลี้ยงอยู่ตาแฉะและมีน้ำตาไหล เราควรที่จะพาเค้ามาหาคุณหมอเพื่อทำการหาสาเหตุและแก้ไข เพราะว่าเค้าอาจจะไม่ได้ร้องไห้อย่างที่เจ้าของหลายคนคิด ถ้าปล่อยเอาไว้ ปัญหาอาจลุกลามจนสุดท้ายที่สุดกระต่ายที่เรารักอาจต้องเสียดวงตาไป

ด้วยความปรารถนาดี
น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล