เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเบี้ยดดราก้อน และโรคที่พบบ่อย
เบี้ยดดราก้อนหรือมังกรเครา มีนิสัย เชื่อง น่ารัก ไม่ดุร้าย ชอบอยู่กับคน จึงเป็นกิ้งก่าที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยเป็นอย่างมาก การเลี้ยงเบี้ยดดราก้อน ผู้เลี้ยงควรมีความรู้เรื่องการดูแล โดยเฉพาะการให้อาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้เบี้ยดดราก้อนมีสุขภาพที่แข็งแรง
รู้หรือไม่? เบี้ยดดราก้อนเด็กกับเบี้ยดดราก้อนโตเต็มวัยกินอาหารไม่เหมือนกัน วัยเด็กเบี้ยดดราก้อนจะต้องการสารอาหารกลุ่มโปรตีนเป็นสัดส่วนมากกว่าไฟเบอร์ จึงต้องกินแมลงเป็นหลักประมาณ 80% และผัก 20% แต่เมื่อโตเต็มวัยสัดส่วนอาหารจะสลับกับวัยเด็ก คือ กินผัก 80% และกินแมลง 20% ถ้าหากให้แมลงเยอะเกินไปในเบี้ยดดราก้อนโตเต็มวัย อาจจะทำให้อ้วนเกินไปจนเกิดภาวะไขมันพอกตับได้ นอกจากนั้นควรเสริมแคลเซียมให้เบี้ยดดราก้อน โดยการคลุกไปในแมลงเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกบางได้
โรคที่พบบ่อย
โรคกระดูกบาง
เกิดจากการขาดแร่ธาตุแคลเซียม หรือขาดวิตามิน D3 ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เมื่อขาดแคลเซียมร่างกายจะหลั่งฮอร์โมพาราไทรอยด์ ซึ่งมีผลสลายแคลเซียมที่กระดูกนำออกมาใช้ จึงส่งผลทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง โดยเฉพาะที่กระดูกกรามและหางจะพบอาการขาบวม กระดูกผิดรูป ชักเกร็ง อ่อนแรง ท้องผูก ไข่ค้าง เป็นต้น สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือด X-ray การรักษาทำได้โดยการให้แคลเซียม ซึ่งสามารถให้ได้ทั้งแบบฉีดหรือกิน ร่วมกับการให้รังสี UVB เพื่อเพิ่มวิตามิน D3 ในร่างกาย โดยสามารถป้องกันได้ด้วยการเสริมแคลเซียมในอาหาร และตากแดดหรือเปิดหลอดไฟ UVB ซึ่งเบี้ยดดราก้อนต้องการรังสี UVB 3-6 ชั่วโมงต่อวัน
โรคอ้วนและไขมันพอกตับ
มักเกิดจากการให้อาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูงจนเกินไป หรือให้อาหารไม่เพียงพอ อาการที่จะพบ น้ำหนักลดลง ผอมลง อาเจียนหรือขย้อนอาหาร กินอาหารลดลง อึผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลว สีผิดปกติ ยูเรตมีสีเขียว อ่อนแรง ช่องท้องขยายใหญ่ วินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด X-ray และ Ultrasound หรือ CT scan ช่องท้อง รักษาทำได้ด้วยการให้น้ำเกลือ วิตามินบำรุง ป้อนอาหารเหลว วิธีการป้องกันทำได้ด้วยการให้อาหารอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป มีการออกกำลังหรือกิจกรรมให้เบียดราก้อนได้เคลื่อนไหว
ฝีในเบี้ยดดราก้อนมักมีแคปซูลห่อหุ้มและภายในบรรจุหนองที่มีลักษณะข้นเหนียวมักพบบริเวณหัว คอ ขา เท้า นิ้วและหาง อาจเกิดจากการขูดบาดเกิดแผลและมีการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือเกิดจากการเลี้ยงในพื้นที่ชื้น หรือไม่สะอาดจนเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนและกลายเป็นฝี สามารถวินิจฉัยด้วยการเจาะเก็บตัวอย่างส่งเพาะเชื้อ และรักษาได้ด้วยการกรีดเพื่อระบายหนอง หรือฝ่าตัดก้อนฝีออก วิธีการป้องกันคือการดูแลความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ หากมีแผลเกิดขึ้นให้รีบล้างทำความสะอาดและทายาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม
ควรพาเบี้ยดดราก้อนไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจร่างกาย และถ่ายพยาธิ หากตรวจพบว่าป่วยในระยะแรกเริ่ม จะใช้เวลารักษาไม่นาน และมักหายกลับมาปกติได้อย่างรวดเร็ว
โดย สพ.ญ.กัณธิตา ปวีณสกล(หมอลูกเกด)