โรคฟันในกระต่ายและสัตว์ฟันแทะ





มารู้จักกับโรคฟันในกระต่ายและสัตว์ฟันแทะกัน แต่เอ๊ะ ทำไมน้องกระต่ายถึงไม่อยู่รวมกับตัวอื่นๆ
นั่นก็เพราะว่าโครงสร้างฟันของน้องกระต่ายจะมีฟันซ้อนจากฟันหน้าอีกที ต่างจากกลุ่มฟันแทะอื่นๆที่ไม่มีฟัน หลังจากฟันหน้า จึงได้แยกน้องออกมาจากน้องตัวอื่นๆ 

อยู่เดี่ยวๆก็เฟี้ยวได้

      

ฟันหน้าสบกันผิดปกติ Incisor Malocclusion


โดยปกติแล้วฟันหน้ามักจะต้องสบกันตลอดเพื่อไม่ให้ฟันด้านใดด้านนึงยาวเกินกว่าปกติ แต่น้องๆที่มีปัญหาฟันหน้าสบกันผิดปกติ มักมาจากการกินเป็นส่วนใหญ่คือให้กินหญ้าน้อย กินแต่เม็ดๆ ทำให้เคี้ยวผ่านไปได้ไวขึ้นต่างจากหญ้าที่ต้องคอยกัดคอยตัดให้เข้ามุมก่อน ซึ่งตรงนี้ทำให้ฟันได้ทำงานตลอดเวลาและมีการลับฟันตลอด 

การสังเกตฟันหน้าผิดปกติ: ก็ทำให้ง่ายๆ เพียงเราใช้มือเปิดปากหรือเปิดเหงือกดูก็เห็นแล้วว่าฟันยังสบกันพอดีหรือเปล่า

การรักษา: ใช้เครื่องมือทำฟันโดยเฉพาะ มีให้เลือกหัวหลากหลาย สำหรับฟันหน้าเราจะใช้หัวตัดฟัน วิธีนี้คุณหมอไม่ต้องดมยาน้องๆกระต่าย แกสบี้เพราะสามารถห่อผ้าเบอริโต้ไม่ให้น้องดิ้นได้ 

แต่สำหรับน้องตัวเล็กๆอย่างกระรอก ชูการ์หรือแฮมสเตอร์ เด็กๆไซส์จิ๋วกว่าก็อาจจะต้องดมยาสลบเพื่อความปลอดภัยขณะใช้เครื่องมือตัดฟัน โดยระหว่างตัดฟันคุณหมอจะใช้ก้านไม้รองด้านหลังเพื่อกันไม่ให้โดนลิ้นน้องอีกทีนึง ตัดเสร็จกลับบ้านปรับอาหารใหม่น้าา

การป้องกัน: กินหญ้าแห้งเป็นหลัก(กระต่าย แกสบี้ ชินชิล่า แพรี่ด็อกและอื่นๆที่กินหญ้า) ธัญพืช ผลไม้เปลือกแข็ง


ฟันกรามสบกันผิดปกติ Cheek Teeth Malocclusion


ส่วนใหญ่เรามกจะมองเห็นฟันกรามได้ยากเพราะอยู่ด้านใน เราจึงมีอุปกรณ์ตรวจฟันที่สามารถส่องแสงเห็นถึงฟันกรามด้านในว่าเริ่มสบกันผิดปกติแล้วหรือยัง

เมื่อฟันกรามเริ่มสบกันแบบผิดปกติ: มักจะสังเกตเห็นว่ากินน้อยลง หรือมีน้ำลายไหลออกมา 

สาเหตุส่วนใหญ่ของฟันกราม: คล้ายกับฟันหน้าเลยคืออาหาร หลังจากผ่านฟันหน้าไป เด็กๆที่กินแต่เม็ดๆจะใช้เวลาเคี้ยวแค่แปปเดียวก็หมดแล้ว ต่างจากหญ้าที่ใช้เวลาเคี้ยววววววนานมากๆกว่าจะหมด หรือบ้านไหนน้องกินหญ้าเก่งมากๆแต่สงสัย เอ๊ะ ฟันกรามยาวได้ไงง ก็อาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวของน้องบางตัวถนัดเคี้ยวข้างเดียว ทำให้ฟันอีกข้างไม่ได้ใช้งาน ฟันก็เลยยาวววไปจิ้มลิ้นบ้าง จิ้มกระพุ้งแก้มบ้าง ถ้าบ้านไหนน้องถนัดแบบนี้อาจจะแก้ยากเอาเรื่องงง  

การรักษา: จึงมีการกรอฟันเพื่อช่วยให้เจ้าฟันทั้งหลายกลับไปยังที่เดิม ไม่ให้แหลมเฟี้ยวออกมาจิ้มให้เป็นแผล แต่การกรอฟันจำเป็นจะต้องดมยาสลบทุกครั้ง เพราะเครื่องมือจะต้องสอดเข้าไปกรอถึงด้านในปาก หากน้องยังรู้สึกตัวอาจเกิดการนองเลือดได้ แต่การดมยานี้ไม่ได้ใช้เวลานานและการดมแก๊สถือนับว่าปลอดภัยที่สุดของการวางยาทั้งหมดแล้ว รวมถึงความชำนาญของคุณหมอแอนิมอลสเปซ ทำให้กรอฟันได้รวดเร็วไม่เกิน 30 นาทีก็กรอเรียบบบ (แอบกระซิบบางบ้านที่ยาวไม่เยอะก็ใช้เวลาทำแค่ 5 นาทีเอ๊งง) แน่นอนว่าก่อนดมยาและตื่นมีพี่ๆพยาบาลคอยสังเกตการณ์ตลอดไม่ทิ้งน้องๆไว้แน่นอน

การป้องกัน: กินหญ้าแห้งเป็นหลัก(กระต่าย แกสบี้ ชินชิล่า แพรี่ด็อกและอื่นๆที่กินหญ้า) ธัญพืช ผลไม้เปลือกแข็ง

Noteบ้านไหนรู้ก่อนว่าโดนกรอฟันแน่ๆ เตรียมงดน้ำงดอาหารก่อนพามาพบคุณหมอได้เลยยย

รากฟันงอกผิดปกติ Pseudo-odontoma


โรคยอดฮิตที่มักจะเจอในกลุ่มแพรี่ด็อกและกระรอก มักเจอว่าเคยฟันหักมาก่อนหรือฟันไม่ครบสีซี่ ทำให้กลายเป็นเนื้อไม่มีและแสร้งว่าเป็นมะเร็งกระดูก ซึ่งเจ้าของอาจจะไม่รู้เลยว่ามีฟันเคยหายไป และถ้าน้องเพิ่งเริ่มเป็นก็จะจับจุดผิดปกติได้ยาก

การสังเกต: เรามักจะสังเกตเห็นว่าน้องเริ่มกินน้อยลง หรือเริ่มมีอาการหายใจผิดปกติ หายใจไม่ออก หอบ หายใจแรงเกิดขึ้น คุณหมอก็จะมาเอ็กซเรย์ดูกันว่ารากฟันผิดปกติหรือเปล่านะ

เมื่อใช้การเอ็กซเรย์จะเห็นการกดเบียดไปยังทางเดินหายใจ น้องก็จะมีภาวะหายใจลำบากและอ้าปากหายใจ ทำให้ส่วนของทางเดินอาหารเกิดแก๊ซเต็มไปหมด เมื่อดูที่ปอดก็จะมีการอักเสบร่วมด้วยเพราะไม่สามารถขับเชื้อออกได้

การรักษา: เมื่อตรวจพบแล้วต้องเข้ารับการผ่าตัดเท่านั้น แต่วิธีการของคุณหมอแต่ละท่านก็จะต่างกันออกไปตามอาการของน้องด้วยอีกที 

ซึ่งถ้าตัวน้องยังไม่พร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดเพราะการหายใจลำบากหรือมีแก๊สในทางเดินอาหารเยอะ เราจะเริ่มทำการรักษาในส่วนนี้ก่อนด้วยการให้ยา พ่นยาหรือเข้าออกซิเจน หากร่างกายน้องพร้อม เจ้าของพร้อมก็มาลุยเข้าผ่าตัดกันต่อไป

หลังผ่าตัด จะต้องดูแลแผลอย่างใกล้ชิด ให้อาหารอ่อน ทำความสะอาดล้างปากบ่อยๆ

Note การผ่าตัดมีความเสี่ยง คุณหมอจะประเมินความเสี่ยงให้ทราบก่อนผ่าตัดทุกครั้ง

ฝีรากฟัน Tooth root abscess


เป็นโรคยอดฮิตพบบ่อยในสมัยคุณหมอนิกกี้ทำงานแรกๆ แต่ปัจจุบันนี้ลดลงมากเพราะผู้ปกครองดูแลเรื่องการจัดการได้ดีขึ้น กินหญ้าเยอะขึ้น กินอาหารได้เหมาะสมมากขึ้น ปัญหานี้ต่อเนื่องจากฟันยาวทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ 

การสังเกต: ถ้าเป็นที่ฟันกราม จะดันลูกตาออกมา กรณีเลวร้ายจะเสียลูกตาฝั่งนั้นไปเลย

การสังเกตจะเริ่มเห็นน้ำตาเอ่อล้นตลอด ถ้าเป็นฟันกรามล่างก็จะเห็นเป็นนูนๆใต้คางขึ้นมา ถ้าเป็นฟันหน้าก็จะมีก้อนบริเวณที่มีการอักเสบ

เมื่อพบแล้วจะเริ่มทำการเอ็กซเรย์ดูฟัน ถ้าเป็นน้อยจะดูค่อนข้างยาก แต่จะสามารถพยากรณ์โรคได้ว่ากำลังจะเป็นฝีรากฟัน และแก้ให้กินหญ้าได้ทันก็จะหายได้ก่อนที่จะเป็นก้อนฝี ถ้าเป็นหนักมากๆจะเห็นว่าฟันทะลุออกมาจากปกติ

การรักษา ถ้าก้อนไม่ใหญ่หรือน้องมีความเสี่ยงเราจะให้ยาลดอักเสบหรือเลเซอร์ลดบวมลดอักเสบ แต่การผ่าตัดนำฝีออกจะเป็นการรักษาที่ดีที่สุด เมื่อนำก้อนฝีออกก็ยังต้องดูแลความสะอาดหลังผ่าต่อ ซึ่งมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ถ้ายังกินเหมือนเดิม โดยคุณหมอจะใช้วิธีเย็บแบบเปิด ก็จะเห็นเลือดหรือหนองเยอะมากกในช่วงแรกๆ จึงต้องทำความสะอาดฟลัชล้างออกให้สะอาดที่สุดและใส่ยาเพื่อสมานแผล 

ในบางครั้งที่ผ่าตัดอาจเจอฟันที่มีปัญหาจึงจำเป็นจะต้องถอนฟันหรือกรอฟันออก เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นอีก กรณีนี้จำต้องอยู่โรงพยาบาลต่อให้ได้รับยาช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหลังจากคุณหมอนำฟันออกไป

Note ยิ่งปล่อยไว้นาน การรักษาก็จะนานขึ้น ยากขึ้นและมีความเสี่ยงมากขึ้น ถ้าพบเร็วแก้เร็วก็จะดีที่สุดทั้งต่อผู้ปกครอง น้องและคุณหมอน้า

ปริทันต์อักเสบ Periodontitis


มักเจอในกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่กินเนื้อ เช่น ชูการ์ เฟรอเรท เม่นแคระ เมื่อมีอะไรก็ตามมาแทรกระหว่างฟันและรากฟันก็จะทำให้สองส่วนนี้แยกออกจากกัน ทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้น และเราเรียกสิ่งนี้ว่า หินปูน เกิดจากการสะสมของเชื้อโรคและเศษอาหารที่หมักหมมอยู่ตรงช่องว่างของฟัน บางตัวมีการอักเสบของเหงือกร่วมด้วย ถ้าอักเสบมากๆหลังขูดหินปูนจะเห็นเป็นรอยแดงหรือบางตัวยังไม่ทันรักษา แค่เขี่ยดูฟันก็หลุดออกมาแล้ว


การสังเกต: อาการที่เจอมักจะกินน้อย มีเลือดออกที่ปาก หรือเคี้ยวไม่อร่อยเหมือนเดิม เลือกกินมากขึ้น ในน้องเม่นจะเจอว่าเหงือกอักเสบหรือบวมขึ้น


การรักษา 

ที่แอนิมอลสเปซใช้เครื่องขูดหินปูนสำหรับสัตว์โดยเฉพาะ 

เริ่มจากการขูดหินปูน เซาะฐานหินปูนรอบตัวฟันออกทั้งหมด 

ใช้ที่ขัดฟันขัดชิ้นส่วนเล็กๆออกให้หมด โดยจะมีผสมฟลูออไรด์เพื่อช่วยเคลือบฟันและล้างทำความสะอาด 

หลังทำเสร็จคุณหมอจะเลเซอร์ช่องปากช่วยลดการอักเสบของเหงือก เมื่อกลับไปที่บ้านผู้ปกครองจะต้องคอยป้อนยาแล้วก็แปรงฟันทุกวัน


น้องบางตัวเหงือกล่นต้องใช้เวลาให้เหงือกฟื้นตัวกลับมานานมาก หรือบางตัวขูดนำออกแล้วฟันอาจจะหลุดไปกับหินปูนด้วย 

กรณีน้องเม่นเหงือกอักเสบเยอะมากๆและเป็นเนื้องอกจะทำได้แค่คอยทำความสะอาดกินยาประคองไป แต่ถ้าเป็นก้อนเล็กสามารถจี้ออกได้


การป้องกัน: แนะนำให้แปรงฟันทุกวัน ใช้ปลอกนิ้วของน้องหมาหรือคัตตอนบัตชุบน้ำ ขัดระหว่างเหงือกกับฟัน ให้ทานอาหารที่ไม่นิ่มเกินไป ให้มีอาหารที่ขัดฟันได้บ้าง


Note เด็กๆแก๊งนี้จะมีฟันแค่ 2 ชุดเหมือนคน เมื่อฟันแท้โดนกัดเซาะจนหายไป ก็จะกลายเป็นเด็กฟันหลอ